“ไดกิ้น” ตอกย้ำผู้นำด้านพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คว้ารางวัลอาคารเขียวขั้นสูงสุด ประจำปี 2560
August 8, 2017

“ไดกิ้น” ผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศชั้นนำระดับโลก จากประเทศญี่ปุ่น ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านพลังงานและใส่ใจสิ่งแวดล้อม คว้ารางวัลอาคารเขียวขั้นสูงสุด ระดับ Platinum (ดีเด่น) จากสถาบันอาคารเขียวประเทศไทย โดยได้จัดให้มีพิธีรับมอบรางวัลดังกล่าวจาก นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานสถาบันอาคารเขียวไทย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ณ บริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด จ.ชลบุรี

“ไดกิ้น” ในฐานะผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานเป็นหัวใจสำคัญเสมอมา ได้นำเสนอ “อาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์” ณ บริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DIT จังหวัด ชลบุรี เข้าร่วมโครงการอาคารเขียวประเทศไทย ในการตรวจประเมินอาคาร ตามมาตรฐานเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงาน และสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) โดยอาคารแห่งนี้เป็นอาคารสร้างใหม่ ที่เป็นศูนย์รวมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศไดกิ้น เพื่อผลิตและจำหน่ายให้ทั้งในประเทศไทยและภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก

อาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แห่งนี้ใช้เทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศไดกิ้น VRV ผสานกับเทคโนโลยีการระบายอากาศ Heat reclaim ventilator ที่ช่วยให้อาคารแห่งนี้มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีระบบพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และวัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน จึงทำให้อาคาร ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศไดกิ้นแห่งนี้ ผ่านการตรวจสอบและได้รับรางวัลอาคารเขียวขั้นสูงสุด ระดับ Platinum (ดีเด่น) จากสถาบันอาคารเขียวประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอาคารลำดับที่ 3 ของประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลนี้

มร.โยชิโนริ ทสึกิยาม่า กรรมการ บริษัท ไดกิ้นอินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไดกิ้นก้าวสู่การเป็นที่หนึ่งด้านการผลิตและการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศที่ดีที่สุดในโลก ตั้งแต่การออกแบบ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต โดยคำนึงถึงคุณภาพ ความคุ้มค่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการประหยัดพลังงานของประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับลูกค้าเป็นสำคัญ ดังนั้นการได้รับรางวัลดังกล่าว จึงถือเป็นความภาคภูมิใจที่ตอกย้ำในความเป็นผู้นำด้านพลังงานและใส่ใจสิ่งแวดล้อมของไดกิ้นอย่างแท้จริง นอกจากนี้เรายังมุ่งหวังที่จะพัฒนาระบบการบริหารจัดการอาคาร และร่วมเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้ทุกหน่วยงานตระหนักถึงแนวคิดการประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย”

ทั้งนี้ที่มาของโครงการอาคารเขียวประเทศไทย เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความรู้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมการก่อสร้างอาคารและสถาปัตยกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ยิ่งเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความเจริญมากเท่าใด จำนวนสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างของมนุษย์ก็มีมากขึ้นเท่านั้น ข้อมูลของ United Nations ระบุว่า ในปี 2011 โลกมีประชากร 7 พันล้านคน โดย 3.6 พันล้านคนเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งมีสัดส่วนสอดคล้องกับเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ที่พัฒนาไปเป็นสังคมเมือง (urbanization) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก โดยในช่วงปี 2010-2015 อัตราการขยายตัวของความเป็นเมืองโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.97 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า ในอนาคตจำนวนอาคารก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นตึกสูง ตึกแถว และบ้านเรือนจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ (จากที่มากอยู่แล้ว) ผลกระทบจากอาคารต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมก็จะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น

ดังนั้น อาคารสีเขียว (Green building) จึงมีข้อกำหนดคือ อาคารที่สร้างขึ้นโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดวัฏจักรชีวิต (life cycle) ของตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเลือกพื้นที่ทำเล การออกแบบ การก่อสร้าง การดำเนินการ การดูแล การซ่อมแซมปรับปรุง รวมไปถึงการทำลายตัวอาคารด้วย เพราะเป้าหมายหลักของเเนวคิดนี้คือการลดผลกระทบจากอาคารก่อสร้าง หรือ สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างต่างๆ (built environment) ที่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้คน (human health) และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ (natural environment)

อาคารสีเขียวจึงมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประสิทธิภาพของการใช้น้ำ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ปกป้องสุขภาพและส่งเสริมความสามารถในการทำงานของผู้คนในอาคาร รวมถึง ลดปัญหาขยะ มลพิษ และการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันรางวัลอาคารเขียวโดยสถาบันอาคารเขียวไทยแบ่งออกเป็น 4 ระดับด้วยกัน อันได้แก่ Certified (ผ่าน) Silver (ดี) Gold(ดีมาก) และ Platinum (ดีเด่น)

สำหรับ “สถาบันอาคารเขียวไทย” เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มอาสาสมัครที่ประกอบด้วยสถาปนิกและวิศวกรจากสมาคมวิชาชีพสองแห่งคือ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อราวกลางปี พ.ศ. 2551 โดยมีเป้าหมายหลักคือ ต้องการพัฒนาองค์ความรู้และจัดทำมาตรฐานรวมทั้งหลักเกณฑ์อาคารเขียวของไทยขึ้นมาใช้เอง เพื่อนำมาใช้แทนเกณฑ์อาคารเขียวที่กำหนดมาจากประเทศมหาอำนาจ ลดความเสียเปรียบด้านการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งต้องการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนและสังคมไทยเรื่องการออกแบบ ก่อสร้าง และพัฒนาอาคารเขียวแบบยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องอาคารเขียวที่ถูกต้องให้กับ สถาปนิก วิศวกร หน่วยงานรัฐบาล และประชาชนทั่วไป

“สถาบันอาคารเขียวไทย” ทำงานภายใต้มูลนิธิฯ โดยเป็นหน่วยงานอิสระไม่แสวงหากำไรแต่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้จากการประเมินอาคารและจัดอบรม สัมมนา และกิจกรรมอื่นๆ ของสถาบันฯ นั่นเอง